ทานตะวันกับดวงอาทิตย์
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมดอกทานตะวันต้องหันหน้าตามดวงอาทิตย์? หลายคนคงเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ดอกทานตะวันมีพฤติกรรมเช่นนี้มีการสังเกตเห็นมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1898 ดอกทานตะวันที่ยังไม่บานจะหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ในทางทิศตะวันออกในตอนเช้าและค่อยๆหันหน้าตามพระอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกในเวลาระหว่างวัน ส่วนในตอนกลางคืนดอกทานตะวันจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อรอรับแสงอาทิตย์ในเช้าวันถัดไป และการหันหน้าตามดวงอาทิตย์นี้จะหยุดเมื่อดอกทานตะวันโตเต็มที่และบานซึ่งจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่า Heliotropism หรือการหันหาดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการที่ดอกทานตะวันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์นั้นเป็นการตอบสนองแบบ Positive Phototropism คือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเพียงด้านเดียว เกิดขึ้นจากฮอร์โมนออกซิน (Auxin) เพราะแสงมีผลทำให้การกระจายตัวของฮอร์โมนออกซินเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เมื่อแสงส่องมานังดอกทานตะวันด้านที่ได้รับแสงจะมีออกซินน้อยเนื่องจากออกซินจะย้ายไปอยู่ทางด้านที่มืดกว่า ด้านที่มืดจึงมีการเจริญเติบโตมากกว่าด้านที่รับแสงยอดของดอกทานตะวันจึงโค้งเข้าหาแสงอาทิตย์ จึงดูเหมือนว่าดอกทานตะวันหันหน้าหาดวงอาทิตย์ตลอดเวลา จะแตกต่างจากแบบ Negative Phototropism ที่เป็นการเคลื่อนไหวหาแสงอาทิตย์ เช่น หญ้าแพรกดอกทานตะวันที่มีอายุน้อยจะหันหาดวงอาทิตย์แต่ถ้าเป็นดอกทานตะวันที่แก่แล้วหรืออายุมากไปจนถึงดอกที่เหี่ยวแล้วจะไม่สนใจดวงอาทิตย์เลย
การที่ดอกทานตะวันหันหาแสงอาทิตย์เนื่องจากในช่วงที่ยังเป็นดอกตูมจะมีกลีบเลี้ยงที่มีสีเขียว สามารถสังเคราะห์แสงได้เหมือนกับใบไม้การที่ได้รับแสงอาทิตย์มากจะทำให้ดอกทานตะวันที่ยังเป็นดอกตูมสามารถสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารได้ดี เมื่อดอกทานตะวันโตเต็มที่การเคลื่อนไหวไปตามดวงอาทิตย์จะหยุดลงและทำให้ดอกทานตะวันหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่อรอรับแสงอาทิตย์ในยามเช้าแทน การที่ดอกทานตะวันที่โตเต็มที่หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกมีประโยชน์อะไรกับดอกทานตะวันบ้าง? นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดอกทานตะวันที่รับแสงอาทิตย์ในยามเช้าจะมีความอบอุ่นและดึงดูดเหล่าแมลวให้มาผสมเกสรได้มากกว่าดอกทานตะวันที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ถึงห้าเท่า แมลงเป็นสัตว์เลือดเย็นที่ต้องการความร้อนจากแสงอาทิตย์ในตอนเช้า เพราะฉะนั้นดอกทานตะวันที่มีความอุ่นจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแมลงมากกว่าดอกที่เย็น เมื่อได้รับการผสมเกสรแล้วดอกทานตะวันก็จะสร้างเมล็ดทานตะวันขึ้นมาและกระจายออกไปงอกใหม่กลายเป็นต้นทานตะวันต้นใหม่ นอกจากนี้ทานตะวันเป็นพืชที่ให้น้ำมันได้โดยการสกัดจากเมล็ด น้ำมันของดอกทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงสามารถนำไปใช้ในการฟอกหนังและประกอบอาหารได้