ดาวศุกร์ (อังกฤษ: Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 ดาวศุกร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 3 เท่าของดวงจันทร์ และ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธและดาวอังคาร 2 เท่าตัว ชื่อละตินของดาวศุกร์ (Venus) มาจากเทพีแห่งความรักของโรมัน ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หิน มีขนาดใกล้เคียงกับโลก บางครั้งเรียกว่า “ฝาแฝด” ของโลก
ล่าสุดการวิจัยใหม่นำโดยสมาคมการวิจัยทางอวกาศยูนิเวอร์ซิตี้ (Universities Space Research Association) ได้รายงานลงวารสาร Science Advances แสดงให้เห็นว่าลาวาที่ไหลอยู่บนดาวศุกร์อาจจะมีอายุเพียงไม่กี่ปี นั่นหมายถึงว่าปัจจุบันดาวศุกร์อาจจะมีการปะทุของภูเขาไฟอยู่ จากภาพที่เห็นนี้ถูกถ่ายโดยยานสำรวจอวกาศ Venus Express เผยให้เห็นบริเวณที่เชื่อว่าได้มีลาวาไหลออกมาจากสัณฐานที่คล้ายกับภูเขาไฟที่กำลังคุกรุ่นอยู่ โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีภูเขาไฟ (ไม่นับที่พบบนโลก) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษากรณีดังกล่าวเผยว่า จากการค้นพบในครั้งนี้ ยังสามารถศึกษากิจกรรมของภูเขาไฟบนดาวศุกร์ว่าอาจทำให้สามารถศึกษาว่าดาวเคราะห์เย็นตัวลงอย่างไร รวมถึงค้นหาได้ว่าเหตุใดโลกและดาวศุกร์จึงมีภูเขาไฟที่ปะทุอยู่ แต่กลับไม่พบบนดาวอังคาร ทั้งนี้ ภาพถ่ายเรดาร์จากยานอวกาศ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา เผยให้เห็นว่าดาวศุกร์ที่เป็นดาวเคราะห์ใกล้เคียงโลกของเรา และเป็นดาวเคราะห์ที่มีภูเขาไฟและลาวาที่กว้างใหญ่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบภูเขาไฟบนดาวศุกร์ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปีคริสต์ศักราช 1990 NASA ได้ส่งยานสำรวจอวกาศ Magellan ไปสำรวจดาวศุกร์และได้ถ่ายภาพเรดาร์ซึ่งเผยให้เห็นร่องรอยการไหลของลาวา นอกจากนี้ในปีคริสต์ศักราช 2005 ยานสำรวจอวกาศ Venus Express ตัวเดียวกันกับที่ตรวจพบภูเขาไฟล่าสุด ได้ตรวจพบคลื่นอินฟราเรดจากพื้นผิวของดาวศุกร์ใช่วงที่เป็นเวลากลางคืนของดาวศุกร์ จึงเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นความร้อนจากลาวา
ปัจจุบันเราไม่รู้เลยว่าการปะทุของภูเขาไฟบนดาวศุกร์รวมทั้งการไหลของลาวานั้นกินระยะเวลามานานเพียงใดแล้ว ทั้งนี้ดอกเตอร์ Justin Filiberto นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบ ได้ให้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติมว่า “ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นร้อนและมีฤทธิ์กัดกร่อนสูงมากและมีการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุอยู่ตลอดเวลา ผลการจำลองสภาพอากาศในห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่าหินบะซอล์ จำพวกโอลิวีนจะทำปฏิกิริยากับแก๊สในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่สัปดาห์หินดังกล่าวจะถูกเคลือบด้วยเหล็กออกไซต์“